
มนุษย์นั้นไม่ได้มีความผิดปกติหรือความเจ็บป่วยทางด้านร่างกายเท่านั้น แต่ยังมีความเจ็บป่วยซึ่งเกิดขึ้นภายในจิตใจอีกด้วย ความเจ็บป่วยนี้เป็นสิ่งมองไม่เห็นและไม่อาจจับต้องได้ แต่เป็นความเจ็บป่วยที่มีอยู่จริง เพราะฉะนั้น มนุษย์จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาสภาวะความเจ็บป่วยทางจิตใจนี้ ส่วนผู้ทำการรักษาและศึกษาในเรื่องของจิตใจมนุษย์ก็คือนักจิตวิทยานั่นเอง
นักจิตวิทยากับจิตแพทย์มีความแตกต่างกัน
ถึงแม้ว่าทั้ง 2 อาชีพนี้จะมีเป้าหมายในการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านจิตใจเช่นเดียวกัน แต่ลักษณะการทำงานในด้านต่างๆ ก็มีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร วันนี้เราจะมาเจาะลึกในด้านของนักจิตวิทยากันก่อน
นักจิตวิทยา มีหน้าที่ศึกษา, วิเคราะห์, วิจัย ลึกเข้าไปในจิตใจของมนุษย์ เพื่อค้นหาสาเหตุ หลังจากนั้นจึงได้นำมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางในการรักษา รวมทั้งหาแนวทางในการป้องกันต่อไปในอนาคต นอกจากจะหาแนวทางในการรักษาแล้วยังต้องเป็นผู้ปรึกษาแก่คนไข้ ซึ่งการปรึกษานักจิตวิทยาหรือการไปพบจิตแพทย์ เป็นเรื่องปกติธรรมดา แม้แต่ผู้มีอาการเครียดจากเรื่องราวในชีวิตประจำวัน ผู้มีอาการนอนไม่หลับ ก็สามารถเข้าไปปรึกษานักจิตวิทยาได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องมีอาการหนักหนาสาหัสเสมอไป มนุษย์สามารถเกิดบาดแผลทางด้านจิตใจได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องปกติเช่นเดียวกัน เมื่อคุณเป็นไข้คุณก็ต้องไปหาหมอเพื่อรับยามาทาน เพราะฉะนั้นการขอความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยาก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้คุณหายจากโรคทางใจต่างๆ ได้
นักจิตวิทยาสามารถแบ่งออกหลากสาย แต่สายที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่…
- นักจิตวิทยาสุขภาพ สำหรับนักจิตวิทยาสายนี้จะประจำการอยู่ในโรงพยาบาลต่างๆ เช่น นักจิตวิทยาเด็กก็จะมีความรู้เจาะลึกในเรื่องของพฤติกรรมเด็ก, นักจิตวิทยาบำบัด ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการเลิกบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งจะต้องมีความรู้ในเรื่องของการบำบัดจิตใจในการรักษาผู้ป่วย
- นักจิตวิทยางานวิจัย สำหรับสายนี้จะประจำการในมหาวิทยาลัย หรือองค์กรสถาบันต่างๆทางด้านความรู้ หน้าที่หลัก คือ ศึกษาหาข้อมูลความรู้ใหม่ๆ เพื่อนำมาเผยแพร่ และการศึกษาเหล่านี้จะต้องเกี่ยวข้องกับงานวิจัยเป็นหลัก สำหรับขั้นตอนในการวิจัยก็มีหลายเทคนิคด้วยการ เช่น การทดลอง, การเก็บข้อมูลจากการลงพื้นที่,การเก็บข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
- นักจิตวิทยาคลินิก สำหรับสายสายนี้ สามารถเปิดคลินิกซึ่งเป็นคลินิกเฉพาะทางก็ได้ หรือจะเป็นคลินิกเล็กๆ ที่อยู่ในโรงพยาบาลก็ได้ โดยมีจุดประสงค์ในการก่อตั้ง คือ เพื่อหาทางรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางด้านจิตใจรวมทั้งให้คำปรึกษาต่างๆ เพื่อให้เขาสามารถปรับตัวและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขต่อไปได้
- นักจิตวิทยาในด้านอื่นๆ นักจิตวิทยาที่ประกอบอาชีพเป็นวิทยากร เดินสายให้ความรู้ตามสถานที่ต่างๆ มีเทคนิคในการโน้มน้าวใจผู้ฟัง ทำให้ผู้ฟังเกิดความคล้อยตาม และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ มีเทคนิคการพูดที่ทำให้ผู้ฟังและรู้สึกสบายใจมากยิ่งขึ้น สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างเป็นปกติสุข หรือ นักจิตวิทยาที่ทำงานในศาล มีหน้าที่โน้มน้าวใจผู้กระทำผิดรับสารภาพ หรือช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้กระทำผิดให้เขาไม่พบกับภาวะตึงเครียดมากจนเกินไป จนกระทั่งอาจก่อให้เกิดการฆ่าตัวตายได้ เป็นต้น
การจะเป็นนักจิตวิทยาได้นั้น ผู้จะเดินสายเรียนต่อทางด้านนี้ จะต้องมีความตั้งใจในการประกอบอาชีพ และจะต้องเป็นคนที่มีจิตใจมั่นคง เข้มแข็ง และมองโลกในแง่ดี ใจเย็นสามารถรับฟังความทุกข์หรือปัญหาของผู้อื่นได้อย่างสนิทใจ ในระยะเวลาอันยาวนาน สามารถใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างเป็นกลาง โดยไม่ใส่อคติส่วนตัวเข้าไป ในอดีตสายงานนี้อาจไม่ค่อยได้รับความนิยมในประเทศไทยสักเท่าไหร่ แต่ด้วยยุคสมัยเปลี่ยนไป ประชาชนคนไทยเข้าใจความสำคัญทางด้านการรักษาจิตใจมากยิ่งขึ้น จึงทำให้อาชีพนักจิตวิทยาเป็นอิสระ เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจและช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ในใจของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้